ประวัติศาสตร์แห่งรอยสัก

ประวัติศาสตร์แห่งรอยสัก Magazine
 

ฉบับนี้อาจารย์เอจะมาชวนคุณผู้อ่านย้อนเวลา Back to the past ดูกันซิว่าการสักเริ่มต้นมาตั้งแต่เมื่อไหร่ เพราะยิ่งค้นลึกไปเรื่อยๆ ก็พบว่ามีหลายเรื่องที่น่าสนใจ เลยอยากเอามาแชร์ให้ฟังกันค่ะ การสัก หรือที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Tattoo” มีมาตั้งแต่สมัยยุคหินหรืออียิปต์โบราณ

ที่อียิปต์

ราว 3,500 ปีก่อนคริสตกาล โดยถูกค้นพบในมัมมี่ ชาวอียิปต์เป็นชาติแรกที่รู้จักคิดค้นและผลิตเครื่องสำอาง โดยมีการเผาเครื่องหอมหรือกำยาน รวมถึงใช้เครื่องเทศ สมุนไพร และน้ำมันต่างๆ สำหรับคงสภาพของศพ นอกจากนี้ยังค้นพบผงจากถ่านสำหรับใช้ทำอายแชโดว์ทาเปลือกตาที่เรียกว่า Kohl รวมถึงนำมาทำดินสอเขียนคิ้วและขอบตาด้วย สำหรับการสักนิยมทำเพื่อบ่งบอกสถานภาพชนชั้นของผู้หญิง เพื่อการศาสนา และเพื่อการรักษาในสมัยนั้น

ที่ญี่ปุ่น

ในช่วงปีคริสต์ศักราช 1603-1868 การสักถูกนำมาใช้เพื่อบ่งบอกสถานะต่างๆ ของคนใช้แรงงาน โสเภณี และแรงงานดับเพลิง ส่วนในยุคศตวรรษที่ 17 การสักตามตัวในประเทศญี่ปุ่นจะแสดงถึงการโดนลงทัณฑ์ของนักโทษที่ทำความผิด ซึ่งการออกแบบรอยสักบางครั้งจะทำการสักไปบนร่างกายของนักโทษที่ถูกตัดสินว่ามีความผิด โดยจะมีหลากหลายแบบตั้งแต่รูปกากบาท เป็นเส้นตรง เส้นขนานสองเส้น หรือวงกลม

ที่จีน

ในสมัยโบราณคนที่สักตามร่างกาย ชาวจีนจะมองว่ากลุ่มคนเหล่านี้ไม่มีวัฒนธรรม เป็นนักโทษที่กระทำความผิด เป็นอาชญากร หรือเป็นทาสใช้แรงงานซึ่งต้องมีรอยสักที่ร่างกายเพื่อแสดงความเป็นเจ้าของ

หากมองย้อนประวัติศาสตร์กลับไปในหลายๆ ประเทศแล้ว การสักในสมัยก่อนยังไม่ได้ทำเพื่อความสวยงามมากนัก แต่เพื่อจุดประสงค์ต่างๆ ตามธรรมเนียม วัฒนธรรม และความเชื่อของแต่ละประเทศ ต่างกันกับสมัยนี้ที่สังคมยอมรับและเปิดกว้างมากขึ้น เราสักเพื่อความสวยงาม เพื่อเสริมบุคลิกภาพ หรือบางครั้งมองว่าเป็นงานศิลปะแขนงหนึ่งด้วยซ้ำไป

ส่วนวิธีการสักในสมัยก่อนจะเป็นการใช้สีฝังลงไปในร่างกายตามแต่จุดประสงค์ต่างๆ และอยู่บนผิวหนังได้นานกว่าการเพ้นท์ ซึ่งยังไม่ได้มีการมองเรื่องความปลอดภัยของเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้เท่ายุคปัจจุบัน เพราะในสมัยก่อนยังไม่มีโรค HIV เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่หลังจากมีโรคติดต่อทางเลือดเข้ามา เราก็เริ่มตื่นตัวกับวิธีป้องกันต่างๆ ยกตัวอย่างในสหรัฐอเมริกา กระทรวงสาธารณสุขจะมีบทบาทในการควบคุมอย่างมาก คนสักจะต้องมี License ในการทำหัตถการ ผ่านการเทรนเรื่องโรคติดต่อทางเลือด และ Hygiene Care ก่อนได้รับอนุญาตให้สามารถสักได้ แต่ในประเทศไทยยังไม่มีหน่วยงานตรวจสอบ หรือกฎหมายอะไรที่ใช้ควบคุม

ดังนั้น ก่อนที่เราจะไปใช้บริการที่ไหน ควรเช็คความน่าเชื่อถือและความปลอดภัยของสถานประกอบการ และผู้ให้บริการให้ชัวร์ก่อนดีกว่าค่ะ

ประวัติ(ศาสตร์)แห่งรอยสัก